ครม. ยกเว้นภาษีเงินได้ผู้ถือวีซ่าพำนักยาว-ลดภาษีผู้เชี่ยวชาญพิเศษ 17% หวังดึงต่างชาติศักยภาพสูง

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งเป็นมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย

สาระสำคัญ คือ การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับชาวต่างชาติผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident Visa : LTR Visa) 3 กลุ่ม ได้แก่

- กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง
- กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ
- กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย

สำหรับเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศหรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ
ขณะเดียวกันยังได้ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เหลือ 17% สำหรับกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษซึ่งทำงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

สำหรับชาวต่างชาติกลุ่มซึ่งเป็นเป้าหมายตามมาตรการ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1. ประชากรโลกที่มีความมั่นคั่งสูง ได้แก่ ผู้ที่มีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือในอสังหาริมทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 500,000.02 ดอลลาร์สหรัฐฯ มีรายได้ส่วนบุคคลไม่ต่ำกว่าปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และมีทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือในอสังหาริมทรัพย์ ไม่ต่ำกว่า 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ มีรายได้ปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมีรายได้ (เงินบำนาญ) ไม่ต่ำกว่าปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย มีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหรือมีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หากจบการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปหรือครอบครองทรัพย์สินทางปัญญาหรือได้รับเงินทุน Series A มีประสบการณ์การทำงาน 5 ปี

4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ มีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือมีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หากจบการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปและมีประสบการณ์การทำงาน 5 ปีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ได้คาดการณ์ว่าจะมีชาวต่างชาติ เข้ามาในประเทศไทยจำนวน 1 ล้านคน และกระทรวงการคลังได้ประมาณการว่าจะไม่มีการสูญเสียรายได้จากมาตรการภาษีครั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างประเทศซึ่งไม่อยู่ในฐานภาษีของประเทศไทย แต่อาจเพิ่มรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษที่จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราร้อยละ 17 ของเงินได้พึงประเมิน

นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับดังนี้คือ ชาวต่างชาติผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาพักอาศัยหรือทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น, การบริโภคและการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้น

อ้างอิงเนื้อหาจาก https://www.sanook.com/money/860944/